

ปัญหาชิปขาดแคลนนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
สาเหตุหลักของวิกฤตการณ์เซมิคอนดักเตอร์ขาดแคลนทั่วโลกเกิดจากการรวมกันของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แล้วเกิดผลกระทบที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เป็นแบบสโนว์บอล (snowball effect) ซึ่งเหตุการณ์หลักๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาชิปขาดแคลนคือ
การระบาดของโควิด-19
ตั้งแต่ปี 2563 ที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ขึ้น ทำให้ผู้คนต้องเริ่มทำงานที่บ้าน (Work From Home) เมื่อการทำงานที่บ้านเป็นเรื่องจำเป็น ทำให้อุปกรณ์ที่ใช้เรียน หรือทำงานก็ต้องอัปเกรดไปด้วย คนก็เลยซื้อคอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน และแท็บเล็ตเพิ่มขึ้น เกิดเป็นอุปสงค์ที่สูงมากในเวลาอันสั้น จากข้อมูลแล้ว ยอดขายชิปที่ต้องใช้สารกึ่งตัวนำหรือเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) จากที่เคยลดลงในปี 2561 – 2562 กลับพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2563 – 2564 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในปี 2564 ที่พุ่งสูงขึ้นกว่า 26% ในเดือนพฤษภาคม เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2563 แล้ว แม้แต่บริษัทผู้ผลิตเองก็ต้องเจอกับล็อกดาวน์เช่นเดียวกัน การผลิตชิปเหล่านี้ก็ช้าลงไปด้วย
สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา กับจีน
ในเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา ได้เกิดความขัดแย้งทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ (United States Department of Commerce) ได้กำหนดข้อจำกัดสำหรับผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของจีน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ปอเรชั่น (Semiconductor Manufacturing International Corporation – SMIC) ซึ่งทำให้การค้าขายระหว่างบริษัทผู้ผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ของจีนกับบริษัทผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ในสหรัฐ ซื้อขายกันยากขึ้นมาก จนเหมือนบังคับให้บริษัทผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ต้องซื้อขายกับบริษัทอื่นนอกจีน อย่างบริษัทผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน (Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) และซัมซุง (Samsung) เท่านั้น ทำให้บริษัทผลิตไม่ทัน
นอกจากนี้สงครามการค้านี้ยังทำให้เกิดภาวะไม่แน่นอนของผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จีน ที่กังวลว่าจะถูกแบนแบบหัวเว่ย จึงมีการกักตุนสต็อกชิปที่ต้องใช้งานเป็นจำนวนมาก เพื่อสร้างความมั่นคงให้ธุรกิจ

ปัญหาแวดล้อมอื่น ๆ
ในขณะที่ปัญหา 2 อย่างก่อนหน้าที่รุนแรงอย่างมากเกิดขึ้น ก็ได้มีปัญหาอย่างอื่นอีก เช่น ไต้หวันเกิดภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา จนส่งผลกระทบกับ TSMC ซึ่งโรงงานผลิตชิปเหล่านี้จำเป็นต้องใช้น้ำในการผลิตมาก เลยทำให้กำลังการผลิตในช่วงนี้น้อยลงอย่างมากอีกด้วย
Asahi Kasei บริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์กว่า 30% สำหรับรถยนต์เกิดไฟไหม้ขึ้นในเดือนตุลาคม 2563 ซึ่งเป็นผลให้ผู้ผลิตรถยนต์ ต่างพากันไปสั่งผลิตชิปกับบริษัทอื่นเช่น TSMC หรือซัมซุง เพิ่มภาระงานให้กับบริษัทเดิมอีกต่างหาก
หรืออย่างล่าสุด ที่ ASML บริษัทที่ผลิตเครื่องจักรผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของเยอรมัน เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่โรงงานในเมืองเบอร์ลินเมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา ถึงแม้ทางบริษัทจะยังไม่เปิดเผยความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่คาดว่าจะทำให้ปัญหาชิปขาดตลาดนี้รุนแรงขึ้นไปได้อีกแน่นอน
ทำไมปัญหาชิปขาดแคลนถึงรุนแรงมากขนาดนี้
ต้องเข้าใจก่อนว่า ไม่ว่าจะอุปกรณ์ประเภทไหนก็ตาม ต่างต้องใช้เจ้าชิปเซมิคอนดักเตอร์เหล่านี้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต หรือกระทั่งรถยนต์ก็ด้วย และบริษัทที่ผลิตชิปเหล่านี้ได้ในโลกนี้ มีผู้ผลิตรายใหญ่เหลืออยู่เพียงแค่ 2 เจ้าเท่านั้น ก็คือ TSMC และซัมซุง เมื่อบริษัทเหล่านี้เจอความต้องการใช้ชิปที่มากขึ้นมาก ๆ เข้า ก็ทำให้ยิ่งผลิตไม่ทันเข้าไปใหญ่เลย
อ่านมาถึงตรงนี้อาจจะเกิดคำถามว่า ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2563 ทำไมตอนนี้ที่เวลาผ่านมากว่า 2 ปีแล้ว ชิปถึงยังขาดแคลนอยู่ นั่นก็เป็นเพราะว่าบริษัทผู้ผลิตนั้นมีน้อยจนน่าใจหายเลย อย่างที่บอกไปว่าบริษัทผู้ผลิตหลัก ๆ ในโลกนี้มีอยู่เพียง 2 เจ้าเท่านั้น และโรงงานเหล่านี้อยู่ในซีกโลกตะวันออกเท่านั้นอีกด้วย (ไต้หวันและเกาหลีใต้) ประกอบกับการที่ผู้ผลิตใหม่จะเข้าสู่วงการผลิตชิปก็ทำได้ยากมาก เพราะว่าการผลิตชิปเหล่านี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก และใช้เวลาในการวิจัยนาน และต้นทุนในการเริ่มทำธุรกิจนี้ก็สูงมากถึง 10 ล้านเหรียญ (ประมาณ 336 ล้านบาท) เลย ขนาดเอเอ็มดี (AMD) หรือแอปเปิล (Apple) ยังต้องจ้าง TSMC ในการผลิตชิป CPU ให้เลย ทำให้ปัจจุบัน คิวการผลิตชิปของทุกบริษัทแน่นมาก และผลิตได้ไม่ทันความต้องการของลูกค้านั่นเอง
ปัญหาชิปขาดแคลนส่งผลกับอุตสาหกรรมไหนบ้าง
อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่า เจ้าชิปเซมิคอนดักเตอร์นี้จำเป็นกับคอมพิวเตอร์ทุก ๆ เครื่อง ไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก หรือแม้กระทั่งระบบที่ต้องมีการคำนวณในรถยนต์ ดังนั้นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด คืออุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต CPU อย่างอินเทล (Intel) หรือเอเอ็มดี รวมถึงแอปเปิลด้วยนะ ผู้ผลิตการ์ดจออย่างเอ็นวิเดีย (Nvidia) ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน และได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษเนื่องจากความต้องการใช้งานที่หลากหลายกว่า ทั้งใช้ในคอมพิวเตอร์ และเหมืองสำหรับขุดสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrencies)
ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ต รวมถึงอุตสาหกรรมเกมคอนโซลเองก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เพราะต่างก็เป็นเหมือนคอมพิวเตอร์ขนาดพกพาไปแล้วทั้งคู่ ต้องใช้ CPU เหมือนกัน และก็ผลิตในที่เดียวกันด้วย

อย่างสุดท้ายก็คืออุตสาหกรรมยานยนต์ ความต้องการชิปนี้ไม่ใช่แค่จะเกิดขึ้นในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เท่านั้นนะ แต่ในปี 2563 ที่ผ่านมา บริษัทผลิตรถยนต์ต่างมีความต้องการชิปเหล่านี้เช่นเดียวกัน เพื่อพัฒนาระบบภายในรถยนต์ให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น อย่างเช่นระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ ระบบช่วยจอดรถ ระวังการถูกชนด้านข้าง ระบบล็อกความเร็วคงที่ตามความต้องการของผู้ขับขี่และสัมพันธ์กับรถยนต์ด้านหน้า (Adaptive Cruise Control) เป็นต้น ไปจนถึงระบบใหม่ล่าสุดอย่างระบบขับเคลื่อนรถยนต์อัตโนมัติ (Autonomous Driving) ทำให้ชิปเหล่านี้ขาดตลาดยิ่งกว่าเดิม
ซึ่งปัญหาชิปขาดแคลนนี้ทำให้รถบางรุ่นต้องพักสายการผลิต เพราะไม่สามารถหาชิปมาผลิตรถได้ เมื่อผลิตรถยนต์ที่มีระบบใหม่ ๆ เหล่านี้ได้น้อย ก็จะได้ยอดขายที่น้อยไปด้วย และพัฒนาช้าลงไปอีก

แล้วเรื่องนี้ ใครกันล่ะที่ได้ประโยชน์ ?
ปัญหาชิปขาดแคลนนี้ใช่ว่าจะมีแต่ข้อเสียเท่านั้นนะ เพราะว่าบริษัทผลิตชิปทั้ง 2 เจ้าใหญ่ ต่างได้รับประโยชน์กันทั้งคู่ สามารถขยายตัวได้อย่างมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา อย่างเช่นที่ TSMC กำลังจะขยายฐานการผลิตไปที่ญี่ปุ่นด้วย
ในขณะเดียวกัน ก็เกิดการแข่งขันในวงการผู้ผลิตชิปมากขึ้น จนทำให้เกิดเทคโนโลยีใหม่มากขึ้นอีกด้วย เช่นเทคโนโลยี CPU ขนาด 5nm หรือ 3nm ในอนาคต ซึ่งทั้ง TSMC และซัมซุงก็ต่างต้องแย่งลูกค้ากันไปมาอย่างหนัก อย่างเช่นกรณีที่ เอเอ็มดี อาจจะย้ายไปจ้างให้ซัมซุงผลิตชิปให้แทนเพราะว่าซัมซุงให้ราคาค่าผลิตที่ดีกว่า เป็นต้น

อีกเรื่องที่เกิดขึ้นก็คือ ทางรัฐบาลที่เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ต่างก็ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือบริษัทผลิตชิปเหล่านี้ เพื่อให้ปัญหาชิปขาดแคลนนี้ค่อย ๆ ลดลงทีละน้อยไปด้วย อย่างเช่นรัฐบาลเกาหลีใต้ที่ร่วมลงทุนในธุรกิจชิปนี้มากถึง 451 ล้านเหรียญ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตของซัมซุงให้มากขึ้นด้วย
รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเองก็พยายามเข้ามาช่วยเหลือเช่นเดียวกัน โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ลงนามคำสั่งเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนชิปผ่านการทบทวนเพื่อเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทาน โดยการทบทวนในระยะยาว จะทำให้เกิดข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานโดยมีเป้าหมายเพื่อนำข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย ไปใช้อย่างรวดเร็ว และคาดหวังว่าจะแก้ไขปัญหาชิปขาดแคลนได้ แม้ผู้ผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ จะเป็นสัดส่วนแค่ 12.5% ของทั้งหมดก็ตาม
เมื่อไหร่ปัญหาชิปขาดแคลนจะจบลง ?
มัลคอล์ม เพนน์ (Malcolm Penn) ซีอีโอของบริษัทวิจัยด้านอุตสาหกรรม ฟิเจอร์ ฮอไรซอนส์ (Future Horizons) ได้กล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า “แม้ว่าอุปทานเซมิคอนดักเตอร์นั้นคาดว่าจะฟื้นตัวได้ภายในสิ้นปี 2564 แต่นักวิเคราะห์ก็เชื่อว่าปัญหาการขาดชิปทั่วโลกอาจยืดเยื้อตลอดปี 2565 และอาจยาวไปถึงปี 2566 เลย การขาดแคลนของชิปนั้นเป็นเพราะค่าใช้จ่ายด้านกำลังการผลิตในปัจจุบันยังมีผลอยู่”